ประโยชน์อย่างหนึ่งที่ได้จาก Angels Initiative คือเรื่องการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มประสิทธิภาพขั้นตอนปฏิบัติในโรงพยาบาลผ่านการฝึกอบรมและการให้ความรู้ตามแนวทางการปฏิบัติที่ดีทางคลินิกของ ESO
ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2016 ศ. เคลาเดีย เกย์โรกา (Prof. Cláudia Queiroga) ที่ปรึกษาของ Angels ผู้รับผิดชอบประเทศโปรตุเกส ได้มาเยี่ยมเยียนเพื่อนำเสนอโครงการและศึกษาสถานการณ์จริงของโรงพยาบาลศูนย์มหาวิทยาลัยอัลการ์ฟ (Centro Hospitalar Universitário do Algarve, CHUA) เพื่อให้เราค้นพบจุดร่วมที่จะส่งผลดีต่อทั้งผู้ป่วยและแพทย์จากสถาบันนี้ได้
ข้อเสนอโครงการ Angels นั้นตั้งอยู่บนฐานมุมมองขององค์กรโรคหลอดเลือดสมองยุโรป (ESO) คือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทุกคนควรได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ใดในยุโรปก็ตาม
เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของยุโรปดังกล่าว ทีมโรคหลอดเลือดสมองจาก CHUA จึงเห็นพ้องกับที่ปรึกษา Angels ในการจัดทำเป้าหมาย การประเมินอย่างต่อเนื่อง และการจำลองสถานการณ์การเตรียมรับมือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้บ่อยครั้ง เพื่อประเมินดูขั้นตอนปฏิบัติและเวลาที่ใช้ไปทั้งหมด ตามมาด้วยการพูดคุยหารือกันในทีมสหวิชาชีพที่มีทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่เทคนิค
ส่งผลให้เกิดกิจกรรมการฝึกอบรมที่มีความโดดเด่นตามมามากมาย โดยเรื่องแรกคือการร่วมงานกับดร. ไจมี ปัมโปลนา (Dr. Jaime Pamplona) จากโรงพยาบาลศูนย์มหาวิทยาลัยลิสบอนเซ็นทรัล - โรงพยาบาลเซาจูเซ่ (Centro Hospitalar Lisboa Central - São José Hospital) ในหัวข้อเรื่อง “การถ่ายภาพรังสีกับการดูแลโรคหลอดเลือดสมอง” ซึ่งทำให้เพื่อนร่วมงานจากหน่วยโรคหลอดเลือดสมองได้พบกับแผนกรังสีวิทยา และให้ความกระจ่างเพิ่มเติมเรื่องบทบาทของการถ่ายภาพรังสีที่มีต่อการตัดสินใจรักษาและแนวทางการดำเนินงาน เรายังมีส่วนในการฝึกอบรมระยะก่อนถึงโรงพยาบาลให้กับแผนกดับเพลิงของเขต เพื่อทบทวนแนวคิดและวิธีการ และมีส่วนในการฝึกอบรมการเตรียมรับมือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้กับทีม EMS ระดับชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งต่อตัวผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างถูกต้องและรวดเร็ว
ในการฝึกอบรมอีกชุดหนึ่ง เราได้ใช้เครื่องมือที่ Angels เตรียมไว้ให้ เช่น ซอฟต์แวร์จำลองการปฏิสัมพันธ์กับร่างกาย เพื่อดูวิธีการปฏิบัติของทีมต่าง ๆ จากโรงพยาบาลหลายแห่ง โดยให้ความสำคัญต่อการปฏิสัมพันธ์และการอภิปรายเคสผู้ป่วยต่าง ๆ
ด้วยการสนับสนุนจาก Angels Initiative จึงเกิดการพัฒนาการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ความเป็นสหวิชาชีพ และกิจกรรมการฝึกอบรมแบบตัดขวาง รวมถึงสถานการณ์จริงของ CHUA อย่างเป็นรูปธรรม และรักษาแนวทางการปฏิบัติที่ดีทางคลินิกระดับนานาชาติฉบับล่าสุดไว้เสมอ ในขณะนี้ ทั้งทีมแพทย์และทีมพยาบาลของเราต่างก็มีความตื่นตัวกันมากขึ้นในเรื่องเวลา และเรื่องความจำเป็นในการบันทึกรายละเอียด เราเริ่มจัดการข้อมูลโดยรวบรวมระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลจนได้รับการรักษาและระยะเวลาการตัดสินใจ ในรูปแบบตารางที่แพทย์ผู้เตรียมรับมือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และเมื่อไม่นานมานี้ เราก็ได้เริ่มบันทึกข้อมูลลงในระบบฐานข้อมูล RES-Q
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดที่เราได้ทำนับตั้งแต่ได้ทำงานกับ Angels คือการรักษาผู้ป่วยในห้องซีทีสแกน นั่นคือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นต้องใช้ในการเตรียมรับมือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะอยู่ในกระเป๋าโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้ระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลจนได้รับการรักษาลดลงประมาณ 30 นาที
บทบาทที่ Angels Initiative ได้มีส่วนร่วมก็คือการให้ความช่วยเหลือในการฝึกอบรมผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ คอยปรับปรุงคุณภาพของการบันทึกข้อมูล และการปรับเปลี่ยนความคิดใหม่อันนำไปสู่การจัดการ คุณภาพการดูแล และแรงจูงใจของทีมที่ดียิ่งขึ้น ขอแสดงความยินดีกับโครงการ ANGELS