Maria Koneva ที่ปรึกษา Angels กล่าวโดยสรุปเอาไว้ว่า “เมื่อได้ทำแล้ว ความรู้จะติดตัวไปตลอด” มาดูกันว่าหลักในการเรียนรู้จากประสบการณ์นั้นเป็นรากฐานที่สร้างผลกระทบต่อการฝึกจำลองสถานการณ์ในการดูแลโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างไรบ้าง
เมื่อต้นปี 2019 ประเทศยูเครนมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบที่ได้รับการรักษาโดยใช้ยาเปิดหลอดเลือดเพียง 1 ใน 200 คนเท่านั้น ส่วนอัตราการรักษาโดยการสวนลากลิ่มเลือดยิ่งน้อยไปกว่านั้น คือแทบจะไม่ถึง 1 ใน 1,000 คน ถึงแม้ว่าอัตราการรักษาโดยการเปิดหลอดเลือดจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก็เกิดขึ้นทีละน้อยจากจำนวนที่ต่ำอยู่แล้ว
ไม่มีปีใดเลยที่อัตราการเปิดหลอดเลือดเพิ่มขึ้นสูงกว่า 31 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งนี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป
เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ทีมนักประสาทวิทยาและนักการศึกษาด้านประสาทวิทยาได้นำเสนอหลักสูตรการฝึกอบรมการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันให้แก่สมาชิกในทีมโรคหลอดเลือดสมอง 106 คนจากทั่วยูเครน บุคลากรจากสหวิทยาการที่ประกอบด้วยนักประสาทวิทยา ศัลยแพทย์ระบบประสาท พยาบาลโรคหลอดเลือดสมอง และแพทย์ฉุกเฉิน รวมจำนวน 10 กลุ่ม ได้เข้าร่วมหลักสูตรจำลองสถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองเป็นเวลา 2 วัน โดยจัดขึ้นที่โรงพยาบาลภูมิภาค Poltava ทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ได้เปิดศูนย์จำลองสถานการณ์เป็นแห่งที่สองในยุโรปตะวันออก เนื่องในวันโรคหลอดเลือดสมองโลก ประจำปี 2018
ที่การประชุมโรคหลอดเลือดสมองโลกในปีต่อมา มีรายงานว่าภายในสิ้นปี 2562 จำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่ได้รับการรักษาโดยการเปิดหลอดเลือดในประเทศยูเครนนั้นสูงขึ้น 90% และอัตราการให้ยาละลายลิ่มเลือดของโรงพยาบาลที่ได้เข้าร่วมการฝึกอบรมก็สูงขึ้นกว่า 200%
ทีม Poltava มีข้อสรุปว่า การฝึกจำลองสถานการณ์สำหรับการดูแลรักษาโรคหลอดเลือดสมองนั้นเกิดผลได้ทันที มีนัยสำคัญ และสามารถวัดผลที่เกิดขึ้นต่อคุณภาพการดูแลรักษาได้
ประเด็นเรียนรู้หลักเกี่ยวกับวิธีการและเหตุผล
การเรียนรู้ด้วยการจำลองสถานการณ์นั้นมีประโยชน์ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี ในความเป็นจริงแล้ว อริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีก เป็นคนแรกที่สังเกตเห็นตั้งแต่เมื่อประมาณ 2,400 ปีก่อนว่า “สิ่งที่ต้องเรียนรู้ก่อนจึงจะทำได้นั้น เราเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ”
ดร. David Gaba เป็นวิสัญญีแพทย์ผู้บุกเบิกการฝึกจำลองสถานการณ์ให้มีบทบาทในแวดวงสุขภาพ โดยใช้หลักการฝึกอบรมของนักบินและนักบินอวกาศ เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเชี่ยวชาญในทักษะใหม่ ๆ โดยไม่ทำให้ผู้ป่วยต้องเกิดความเสี่ยง
ในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองฉุกเฉิน ผลกระทบเชิงบวกของการฝึกจำลองสถานการณ์แสดงให้เห็นผ่านการจัดการผู้ป่วยในชีวิตจริงและผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น โดยเป็นผลจากการทำงานเป็นทีมที่ดีขึ้น ทำให้ได้เวลาที่ดีขึ้น และแพทย์ที่มีความมั่นใจมากขึ้นสามารถตัดสินใจได้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีและสาเหตุที่การฝึกจำลองสถานการณ์ช่วยให้การดูแลรักษาโรคหลอดเลือดสมองดีขึ้นได้นั้น จะพบคำตอบมากมายทั้งในกรณีศึกษาแบบมีการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ และในประโยชน์ของการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ทราบกันเป็นวงกว้าง แต่สำหรับการเรียนรู้หลัก 5 ประเด็นเกี่ยวกับการฝึกจำลองสถานการณ์สำหรับโรคหลอดเลือดสมองนั้น เราอาจต้องอาศัยกลุ่มที่ปรึกษา Angels Initiative และหัวหน้าทีมที่ได้แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่การจำลองเส้นทางการรักษาอาการเฉียบพลันในโรงพยาบาลไปจนถึงสถานการณ์จำลองของศูนย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจและการรักษาหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน
1. สถานที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้และไตร่ตรอง
Silvia Ripamonti หัวหน้าทีม Angels ประจำ 5 ประเทศในยุโรปกลาง ซึ่งรวมถึง
Maria Koneva ซึ่งประจำอยู่ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย และผู้เข้าร่วมโครงการ Angels Initiative ด้วยความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพในประเทศของตน กล่าวว่า “การจำลองสถานการณ์ช่วยกำจัดความกลัวไปได้”
Claudia Queiroga ยืนยันว่า “มันเป็นพื้นที่ปลอดภัย” ปัจจุบัน Claudia เป็นสมาชิกของทีม Angels Initiative Core อดีตที่ปรึกษาในโปรตุเกส ที่ซึ่งเธอได้สัมผัสกับการจำลองสถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันรุนแรงในแผนกฉุกเฉิน
การฝึกจำลองสถานการณ์ยังทำให้ได้ไตร่ตรองการกระทำของตนเองในสภาพแวดล้อมที่ไม่ตัดสิน เธอกล่าวเสริม
การจำลองสถานการณ์โดยแสดงบทบาทสมมติ ตามปกติแล้วประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ การบรรยายสรุป สถานการณ์จำลอง และการซักถาม ระหว่างขั้นตอนการซักถาม ผู้เข้าร่วมจะได้รับคำติชมจากผู้เชี่ยวชาญในสภาพแวดล้อมที่ให้การสนับสนุนและไม่ตัดสิน การได้ไตร่ตรองนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้จากประสบการณ์ ตามที่นักปรัชญาและนักปฏิรูปการศึกษา John Dewey เชื่อว่า “เราไม่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ แต่เราเรียนรู้ด้วยการไตร่ตรองจากประสบการณ์”
2. เรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นและนานยิ่งขึ้น
การเรียนรู้จากประสบการณ์ช่วยเร่งการเรียนรู้และทำให้จดจำได้ดีขึ้น ผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่เพียงแต่มีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเนื้อหาเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้คุณค่าของความผิดพลาดอีกด้วย
Lev Prystupiuk ที่ปรึกษา Angels ประจำภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าทึ่งที่การเรียนรู้เกิดขึ้นได้มากขนาดนี้ในเวลาเพียงแค่สองวัน Lev นักวิทยาต่อมไร้ท่อผู้มีประสบการณ์เป็นอาสาสมัครรักษาพยาบาลตามพื้นที่ชนบทห่างไกลของยูเครนซึ่งเป็นบ้านเกิด ได้มีส่วนร่วมจัดตั้งศูนย์จำลองสถานการณ์ที่ Poltava เขากล่าวว่า หลังจากการฝึกอบรมโดยใช้การจำลองสถานการณ์ที่ Poltava แล้ว แพทย์ผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน เริ่มให้การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่โรงพยาบาลของตนและในประเทศของตน
การเรียนรู้ไม่ได้เร็วขึ้นจากการลงมือทำเท่านั้น แต่ยังมีการทบทวนและการวิเคราะห์ไฟล์วิดีโอของสถานการณ์จำลอง รวมถึงการได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของตนเป็นส่วนเสริมอีกด้วย
Alicia Arjona ที่ปรึกษา Angels จากประเทศสเปน กล่าวว่า “เมื่อได้เห็นตัวเองทำผิดพลาด เราจะไม่มีวันลืมลง” Maria Koneva สะท้อนประเด็นนี้ว่า “เมื่อได้ลงมือทำแล้ว ความรู้จะติดตัวไปตลอด”
3. ความสามารถ ความมั่นใจ และเครือข่ายสนับสนุน
Mateusz Stolarczyk หัวหน้าทีม Angels ประจำประเทศรัสเซีย โปแลนด์ และยูเครน กล่าวว่า เมื่อแพทย์ที่ได้เข้าร่วมการฝึกจำลองสถานการณ์เริ่มรักษาผู้ป่วยของตนนั้น ความมั่นใจเกิดขึ้นด้วยสาเหตุ 2 ประการ “อย่างแรกคือรู้วิธีการ และอีกอย่างก็คือได้รับการสนับสนุนจาก Angels ให้นำไปปฏิบัติจริง”
Silvia เห็นพ้องว่า “ผลลัพธ์ยิ่งใหญ่ที่สุด คือการที่แพทย์มีความมั่นใจมากขึ้นเมื่อนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติ” นี่คือความมั่นใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์จำลองการตัดสินใจแบบสวมบทบาทพร้อมกับแพทย์ที่มีประสบการณ์ การได้รับคำติชมจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องสิ่งที่สังเกตเห็นได้ในระหว่างการตรวจคัดกรองทางระบบประสาท หรือการลดเวลาช่วยชีวิตจากแผนการจัดการโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันระหว่างการจำลองสถานการณ์ในโรงพยาบาล
Maria กล่าวว่า นอกจากจะได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาอย่างถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าที่ทำเรื่องซับซ้อนให้เรียบง่ายแล้ว พวกเขายังอาศัยการสนับสนุนและการให้คำปรึกษาในอนาคตได้อีกด้วย
ประสบการณ์ที่ Silvia ได้รับยืนยันเรื่องนี้ว่า “เมื่อแพทย์ที่ไม่เคยรักษาโรคหลอดเลือดสมองมาก่อนได้ฝึกจำลองสถานการณ์เสร็จสิ้นแล้ว ผู้ฝึกสอนจะบอกว่า ถ้ามีผู้ป่วยรายแรกให้โทรหาฉัน และเมื่อแพทย์โทรไป ที่ปรึกษาผู้รับสายจะบอกให้ใจเย็น ๆ แล้วค่อยดำเนินการตามรายการตรวจสอบ และทำตามระเบียบวิธี”
4. การทำงานเป็นทีมระหว่างสาขาวิชา
การทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์ และการสื่อสารที่ดีขึ้นระหว่างสมาชิกในทีมสหสาขาวิชาชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดภาวะเฉียบพลันรุนแรง คือหนึ่งในผลลัพธ์สำคัญที่ได้จากการฝึกจำลองสถานการณ์
แต่การทำงานเป็นทีมก็มีบทบาทในการดูแลรักษาหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันด้วยเช่นกัน Claudia กล่าว โดยเธอเพิ่งเข้าร่วมเวิร์คช็อปการจำลองสถานการณ์การรักษาหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันที่ศูนย์การจำลองใน Aveiro ประเทศโปรตุเกส พร้อมกับ Rita Rodrigues ผู้จัดการโครงการ Angels ซึ่งเป็นผู้ประสานงานด้านการศึกษาและการฝึกอบรมสำหรับทีมที่ปรึกษาในยุโรป และเป็นผู้จัดการการเข้าร่วมในการประชุมระดับนานาชาติ การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการประชุมทางวิชาการ
เวิร์คช็อปครั้งนี้มีทีมสหวิทยาการจากโรงพยาบาลต่าง ๆ มาเข้าร่วมจำนวน 2 ทีม ซึ่งประกอบด้วยพยาบาลเวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด นักแก้ไขการพูด และนักโภชนาการ
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันรุนแรงมักไม่ได้ทำงานกันเป็นทีม ซึ่งต่างจากการรักษาหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน และบ่อยครั้งที่ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมจากโรงพยาบาลเดียวกันไม่เคยพบกันมาก่อน Claudia กล่าว “ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งอาจเข้ามาช่วงเช้า อีกคนในช่วงบ่าย และจะอาศัยเพียงแค่ข้อมูลในบันทึกผู้ป่วยเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างเวิร์คช็อปการจำลองสถานการณ์ที่ Aveiro ผู้เข้าร่วมได้ตระหนักว่า การทำงานเป็นทีมและการตัดสินใจร่วมกันระหว่างสหสาขาต่าง ๆ ในการรักษาหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังมีความเข้าใจบทบาทของคนอื่นดีขึ้น และด้วยการทำหน้าที่แทนผู้เชี่ยวชาญคนอื่นในการจำลองสถานการณ์ก็ทำให้มีโอกาสที่จะได้เอาใจเขามาใส่ใจเรา
“เรื่องนี้เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับความมุ่งมั่นของทีมและการสร้างทีม” Claudia กล่าว
5. มุมมองของผู้ป่วย
ในการจำลองสถานการณ์การรักษาหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน นักแสดงที่สวมบท “ผู้ป่วย” ได้ให้ข้อเสนอแนะที่มีคุณค่าจากมุมมองของผู้ป่วย Rita กล่าวเสริมว่า การที่นักแสดงมีส่วนร่วมทำให้การจำลองสถานการณ์ดูเหมือนจริงมากขึ้นสำหรับผู้เข้าร่วม รวมถึงทำให้ได้รับประสบการณ์ที่สมจริง
“เราให้นักแสดงมีส่วนร่วมในขั้นตอนการซักถาม และทีมงานสนใจมากที่จะได้รับฟังว่านักแสดงคิดอย่างไรกับการตรวจคัดกรองและการสนทนาระหว่างรักษา และมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง ไม่มีใครเคยถามผู้ป่วยเลย ดังนั้นการได้รับฟังมุมมองนี้จึงมีคุณค่าเป็นอย่างมาก”
ข้อมูลเชิงลึกที่พบได้จากการสวมบทบาทเป็นผู้ป่วยด้วยตัวเองนั้นก็มีคุณค่าไม่น้อยเช่นกัน ดังที่ Mateusz Stolarczyk ได้เรียนรู้เมื่อแสดงเป็นผู้ป่วยระหว่างการจำลองสถานการณ์ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
“มันทำให้ผมเห็นคุณค่าของการแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง” เขาเล่า “ผมรู้ว่านั่นเป็นแค่การจำลองสถานการณ์ แต่ก็ยังทำให้รู้สึกกังวลอยู่”